วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ปลานีออน

ปลานีออน  



ชื่อวิทยาศาสตร์  Paracheirodon  innesi  (Myers, 1936)
ชื่อสามัญ          Neon tetra

ลักษณะทั่วไปของปลานีออน

                  ปลานีออน จัดเป็นปลาสวยงามขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ มีสีสันที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็น บนลำตัวมีสีน้ำเงินอมเทา  ตรงแนวสันหลังสีเขียวอ่อน และมีสีฟ้าเชื่อมติดระหว่างโคนหาง  ส่วนโคนครีบหาง และครีบอกมีสีแดงพาดอยู่ ลำตัวเจริญเติบโตเต็มที่วัดได้ 1.5  นิ้ว   มีอุปนิสัยรักสงบ ชอบว่ายน้ำเล่นอยู่ตลอดเวลาไม่อยู่นิ่งกับที่ อาศัยอยู่บริเวณกลางน้ำ และผิวน้ำ ปลาชนิดนี้ชอบเกาะกลุ่มรวมกันเป็นฝูง ๆ กินอาหารได้ทุกชนิด  จึงไม่มีปัญหาในเรื่องอาหาร

การเพาะพันธุ์ปลานีออน
การคัดพ่อแม่พันธุ์
                  การคัดพ่อแม่พันธุ์สังเกตได้จาก ปลาตัวเมียมีขนาดลำตัวใหญ่ อ้วนกลมกว่าบริเวณส่วนท้องของปลาตัวเมียเต่งขยายออก การเคลื่อนไหวเชื่องช้า  สีคมชัดกว่า สำหรับตัวผู้ลำตัวยาวเรียวกว่า และมักไล่ต้อนตัวเมียเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์
การผสมพันธุ์

                  ตามธรรมชาติปลานีออนเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ค่อนข้างยาก ฉะนั้นผู้เพาะเลี้ยงจึงต้องใช้เทคนิค และวิธีการบางอย่างเข้าช่วย เพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ในการวางไข่ให้เร็วขึ้น การเพาะพันธุ์ปลานีออนจะประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีการและเทคนิคดังนี้

                  การเตรียมอุปกรณ์ในการเพาะพันธุ์ อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเพาะพันธุ์  เช่น ตู้เพาะเลี้ยง ฝาปิดตู้ปลา และพันธุ์ไม้น้ำ ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคให้สะอาดเสียก่อน ด้วยการแช่น้ำเกลือหรือด่างทับทิม โดยเฉพาะตู้เพาะพันธุ์ และฝาตู้ปลาควรแช่ได้นาน 1-2 วัน ต่อจากนั้นเช็ดให้แห้ง สำหรับพันธุ์ไม้น้ำก็เช่นกัน แต่ความเข้มข้นต้องเจือจางกว่า การฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

                  ตู้เพาะพันธุ์ สำหรับที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลานีออนควรมีขนาดที่พอเหมาะ คือ ขนาดของตู้ปลาควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ค่อนข้างแบนจุน้ำได้ 80 ลิตร  ปริมาณน้ำที่เติมลงไปประมาณ 60 ลิตร ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค และปลูกพันธุ์ไม้น้ำไว้บริเวณด้านข้างของตู้ปลาด้านใดด้านหนึ่ง  หรือ ใช้กิ่งไม้แทนหิน กรวด ทราย เนื่องจากกิ่งไม้เป็นที่วางไข่จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัวอ่อน บริเวณที่ตั้งตู้ปลาควรเป็นสภาพที่เงียบไม่มีคนพลุกพล่าน ทางที่ดีควรเลือกตั้งตรงบริเวณที่ได้รับแสงแดดยามเช้า อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่พันธุ์ไม้น้ำ และไข่ หรือตัวอ่อนที่กำลังเติบโตต่อไป ก่อนการตั้งตู้ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากเมื่อตั้งตู้ปลาแล้วเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายตู้ปลาได้อีก

                  สภาพน้ำ  การเพาะพันธุ์ปลานีออน น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าน้ำที่ไม่สะอาดมาทำการเพาะพันธุ์ทำให้เกิดผลเสียหาย บางท่านนำน้ำกลั่นมาเพาะเลี้ยงแล้วใช้แอร์ปั๊มเข้าช่วยเพื่อเพิ่มออกซิเจนเหตุผลนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะน้ำกลั่นโดยทั่วไปมีสภาพเป็นกรด ถ้าใช้น้ำประปาควรปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปแล้วนำมาใช้เพาะพันธุ์ ผู้เพาะเลี้ยงควรปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์ และการวางไข่ปลานีออน โดยเฉพาะคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างควรอยู่ในระหว่าง 6.2-6.8 และระดับอุณหภูมิของน้ำเฉลี่ย 23-24 องศาเซลเซียส

                  เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้ตามความต้องการแล้ว ก่อนปล่อยควรทำการฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับตัวปลาด้วยการใช้ด่างทับทิมหรือเกลือผสมกับน้ำให้มีความเจือจางแช่ไว้ประมาณ 24 ชม.  จาก นั้นก็นำพ่อแม่พันธุ์ลงปล่อยในตู้ปลาที่เพาะเลี้ยงการให้อาหารในช่วงนี้ สำคัญ เพราะอาจทำให้น้ำในตู้เน่าเสียได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมอาหารเป็นพิเศษ ทางที่ดีควรให้อาหารประเภท ลูกน้ำ ไรแดง  อาร์ทีเมีย สภาพน้ำในตู้ควรฆ่าเชื้อด้วยเกลือหรือยาปฏิชีวนะ เช่น คอแรมเฟนิคอล  ฯลฯ.

การวางไข่

                        เมื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ในตู้เพาะเลี้ยง 2-3 วัน สังเกตเห็นตัวผู้ว่ายไล่ต้อนตัวเมีย ซึ่งทำให้ตัวเมียหนีเข้าไปอยู่ในพันธุ์ไม้น้ำ เมื่อสภาพสมบูรณ์เต็มที่ตัวเมียวางไข่ในตอนใกล้รุ่งของวันใหม่ ส่วนตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมทันที ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วฟักเป็นตัวภายใน 2-3 วัน จากนั้นจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากตู้แล้วปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันแสงสว่าง

การอนุบาลลูกปลา

                  หลังจากที่ลูกปลานีออนเจริญเติบโตสามารถว่ายน้ำได้ ช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเพราะลูกปลาได้รับอาหารจากถุงไข่แดง ต่อจากนั้นให้ลูกไรแดงจนลูกปลาโตพอที่กินอาหารชิ้นใหญ่ ๆ  ได้แล้ว คือ มีอายุประมาณ 1 เดือน ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนอาหารจากไรแดงเป็นเนื้อกุ้งสับให้ละเอียด ต่อมาเมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ลูกปลาเริ่มปรากฏลวดลายสีสันออกมาให้เห็นชัด และเมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 2 เดือน สีประจำตัว คือ สีฟ้าเปล่งประกายเข้มเหมือนกับ พ่อแม่พันธุ์ทุกประการ

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน

                  การเพาะเลี้ยงปลานีออนบางท่านยังไม่เข้าใจในชีวิตธรรมชาติของปลาประเภทนี้มากนักจึงคิดว่าปลานีออนเป็นปลาที่เลี้ยงยาก แต่ถ้าผู้เพาะเลี้ยงได้ศึกษาลักษณะนิสัยของปลานี้แล้วรู้ได้ว่าการเลี้ยงปลานีออนได้ง่ายดังเช่นการเคลื่อนย้ายปลา ปลานีออนเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ  ระบบ ทุกส่วนไวต่อการสัมผัสของระบบประสาท ผู้เพาะเลี้ยงจึงสมควรที่ต้องรู้วิธีการ และเคล็ดลับการเคลื่อนย้ายปลานีออนเพื่อป้องกันการบอบช้ำ การซื้อปลามาเลี้ยงไม่ควรใช้กระชอนตักปลาขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เนื่องจากปลานีออนมีขนาดเล็กความบอบช้ำมีมาก และเกิดโรคบางชนิดขึ้นได้ง่าย  ทางที่ดีแล้วควรใช้ขันหรือจากตักให้มีน้ำอยู่ด้วย  แล้วเทลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถุงพลาสติก  ถังน้ำ  ฯลฯ วิธีการปล่อยปลานีออนลงเลี้ยงถือเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงต้องเตรียมสภาพน้ำให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นกรดเป็นด่างควรมีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 6.2 - 6.8 สำหรับระดับอุณหภูมิของน้ำภายในตู้เลี้ยงให้อยู่ประมาณ 75 องศาฟาเรนไฮน์ และก่อนปล่อยปลาจำเป็นต้องใส่ยาปฏิชีวนะ  จำพวก คลอแรมเฟนิคลอ แอมพิซิลิน หรือใส่เกลือแกงลงไปด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคบางชนิด ต่อมาให้นำถุงพลาสติกที่ใส่บรรจุปลานีออนอยู่ภายในแช่ลงในตู้ปลาประมาณ 10-20 นาที เพื่อให้ปลานีออนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาได้เป็นอย่างดี

ระบบนิเวศภายในตู้

                  การปลูกพันธุ์ไม้น้ำ และใส่วัสดุต่าง ๆ เพื่อเป็นที่หลบซ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่ตู้ปลาดูเป็นไปแบบตามธรรมชาติจริง ๆ

การเลี้ยงปลานีออนให้มีลักษณะเด่น

                  ผู้เลี้ยงควรปล่อยปลาอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ และบริเวณฝาปิดหรือหลังตู้ควรปิดทับด้วยวัสดุบางอย่างที่ทำให้เกิดความมืด เวลามองดูตัวปลาสีสันจะได้สะท้อนสดใสสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น และผู้เลี้ยง

โรคที่สำคัญ

                  ตามธรรมดาแล้วการเลี้ยงปลานีออนในภาชนะที่จำกัดมักไม่ค่อยปรากฏเรื่องโรคให้เห็น  ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงมากขึ้น จึงทำให้โรคต่าง ๆ ที่เข้ามาเบียดเบียนมีน้อยนัก  แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีเกิดขึ้นบ้าง  สำหรับ โรคที่พบในปลานีออน คือ โรคจุดขาว สาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงอย่างกะทันหัน ซึ่งระดับอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปทำให้ปลาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ในช่วงระยะ 2-3  วัน แรก ที่ปล่อยลงตู้เลี้ยงไม่ค่อยตาย แต่เพื่อป้องกันการสูญเสียผู้เพาะเลี้ยงควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดระดับ อุณหภูมิตลอดระยะเวลาที่ปลาเริ่มแสดงอาการผิดปกติ

อ้างอิง

http://www.fisheries.go.th/sf-prachinburi/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=59&Itemid=65

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น